การออกแบบ Typography ไม่ใช่แค่การเลือกฟอนต์สวยๆ มาวางเรียงกันแล้วจบ แต่มันเป็นการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงทั้งความสวยงามและการใช้งานได้จริง ตัวอักษรที่ดีช่วยให้ข้อมูลเข้าใจง่าย ลดอุปสรรคในการอ่าน และทำให้ประสบการณ์ของผู้อ่านราบรื่นยิ่งขึ้น
เรื่องสำคัญที่สุดของการจัดวาง Typography ในงานออกแบบนอกจากหน้าตาภายนอก เราควรคิดในหัวไว้เสมอว่า "มันอ่านออกหรือเปล่า?" หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า Legibility และ Readability มาบ้าง แม้จะดูคล้ายกัน แต่ทั้งสองมีบทบาทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน วันนี้ Casper Schools เลยจะพาทุกคนไปรู้จักแนวคิดนี้ พร้อมวิธีปรับปรุง Typography ให้ดีขึ้น และการนำไปใช้ในงานออกแบบจริงกันค่ะ
Legibility = ความชัดเจนของตัวอักษร เห็นแล้วอ่านออกโดยไม่ต้องเพ่ง
Legibility คือความสามารถในการแยกแยะตัวอักษรแต่ละตัวออกจากกันได้ชัดเจน เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ข้อความอ่านออก ถ้าฟอนต์หรือการจัดวางทำให้ตัวอักษรติดกันเกินไป อ่านยาก หรือสับสน Legibility ก็จะลดลง
Legibility ในชีวิตจริง ใช้ยังไงให้ตัวอักษรอ่านออกชัดเจน
- ป้ายบอกทาง ฟอนต์ต้องชัด อ่านง่ายแม้มองจากระยะไกลหรือขณะขับรถ
- UI/UX แอปพลิเคชัน ตัวอักษรต้องไม่เล็กเกินไป มีช่องไฟพอดีเพื่อให้อ่านได้สบายตา
- โลโก้ที่ใช้ตัวอักษรเป็นหลัก เลือกฟอนต์ที่อ่านออกได้ง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินไป
Readability = ความลื่นไหลในการอ่าน อ่านง่ายไม่มีสะดุด
Readability คือความสะดวกในการอ่านโดยรวม ไม่ใช่แค่การแยกแยะตัวอักษร แต่รวมถึงโครงสร้างของข้อความ การเว้นวรรค ระยะห่างระหว่างบรรทัด และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยให้การอ่านราบรื่น
Readability ในชีวิตจริง ใช้ยังไงให้เนื้อหาอ่านง่ายขึ้น
- บทความออนไลน์ จัดย่อหน้าให้ดี ใช้ขนาดตัวอักษรที่อ่านสบายตา
- อินโฟกราฟิก ข้อมูลต้องสั้น กระชับ เข้าใจง่ายในพริบตา
- หนังสือหรือ E-Book ใช้ระยะห่างระหว่างบรรทัดที่เหมาะสม เพื่อลดอาการตาล้า
พออ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า... แล้วระหว่าง Legibility กับ Readability อะไรสำคัญกว่ากัน?
ก่อนจะตัดสินใจ ทุกครั้งที่เริ่มออกแบบ Typography ต้องถามตัวเองก่อนว่า "งานนี้จำเป็นต้องให้คนอ่านข้อความได้ชัดแค่ไหน?" เพราะไม่ใช่ทุกดีไซน์ที่ต้องเน้นทั้ง Legibility และ Readability สูงเสมอไป เช่น ลายพิมพ์ผ้า Monogram ที่ใช้ตัวอักษรย่อของแบรนด์มาทอเป็นแพทเทิร์น จุดประสงค์หลักคือความสวยงาม ไม่ใช่อ่านออก
แต่ถ้าคำตอบคือ "ต้องให้คนอ่านออกชัดเจน" เช่น ชื่อหนังบนโปสเตอร์ ป้ายคำเตือน โจทย์ในข้อสอบ แผนที่ หรือแม้แต่ตัววิ่งข่าวบนหน้าจอทีวี ก็ต้องให้ความสำคัญกับทั้ง อ่านออก (Legibility) และ อ่านง่าย (Readability) โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อความนั้นส่งผลต่อความปลอดภัย หรือเป็นข้อมูลสำคัญที่พลาดไม่ได้
ซึ่งโดยทั่วไป งานที่มี Legibility สูง ก็มักจะมี Readability ดีตามไปด้วย เช่น หนังสือเรียนที่จัดวางตัวอักษรให้อ่านง่ายสบายตา ในทางกลับกัน งานที่ Legibility ต่ำ ย่อมไม่มีทาง Readability สูง ได้เลย เช่น ลายมือหมอบนใบสั่งยา ที่แม้แต่เภสัชกรยังต้องเพ่งดูหลายรอบถึงจะอ่านออก สุดท้ายแล้ว Legibility และ Readability ต้องทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของงานออกแบบ ถ้าอยากให้เนื้อหาชัดเจนและเข้าถึงคนอ่านได้ดีที่สุด ทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน
Typography เปรียบเสมือนเสียงของงานออกแบบ จะสื่อสารชัดหรือจมหายไป ขึ้นอยู่กับ Legibility และ Readability ทั้งสิ้น เพราะงานที่ทั้งสวย แปลกใหม่ อ่านออก และอ่านง่ายในเวลาเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทำได้มันสร้างอิมแพ็กได้มหาศาล การเลือกฟอนต์ที่ดี ปรับระยะห่างตัวอักษร หรือออกแบบคอนทราสต์ของตัวหนังสือให้เหมาะสม ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ Typography อ่านง่ายขึ้น ถ้าอยากรู้ "เทคนิคการปรับ Legibility และ Readability" ให้ดียิ่งขึ้น อ่านต่อได้ที่บทความนี้เลยค่ะ