Typography ที่ดีช่วยให้ข้อความอ่านง่าย แต่เคยไหม? อ่านอะไรบางอย่างแล้วต้องเพ่งจนปวดตา หรือรู้สึกว่าตัวหนังสือมันดูติดกันจนอ่านไม่ออก ถ้าเคยเจอปัญหาแบบนี้ อาจเป็นเพราะ Legibility (การอ่านออก) และ Readability (การอ่านง่าย)
Legibility คือความสามารถในการแยกแยะตัวอักษรแต่ละตัวออกจากกันได้ง่าย ส่วน Readability คือความสามารถในการอ่านและทำความเข้าใจข้อความได้อย่างลื่นไหล ถ้าทุกคนเข้าใจสองสิ่งนี้แล้ว ไปดูวิธีปรับปรุงกันได้เลย! แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่า "Legibility และ Readability คืออะไร แล้วทำไมถึงสำคัญ" แนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านที่บทความนี้ก่อนได้นะคะ
เทคนิคเพิ่ม Legibility ให้อ่านออกง่ายขึ้น
1. ปรับช่องว่างระหว่างตัวอักษร (Kerning)
ถ้าตัวอักษรสองตัวชิดกันเกินไป อาจทำให้ข้อความดูติดกันจนอ่านไม่ออก ควรปรับ Kerning ให้พอดี
2. เลือกน้ำหนักของฟอนต์ให้เหมาะสม (Font Weight)
ตัวอักษรบางเกินไป เช่น Thin หรือ Light อาจอ่านยาก ขณะที่ตัวอักษรหนาเกินไป เช่น Bold หรือ Black อาจทำให้รายละเอียดเล็กๆ หายไป
3. เลือกฟอนต์ที่เหมาะกับภาษา
ภาษาไทย: ฟอนต์ที่มีหัว (Looped) ช่วยแยกแยะตัวอักษรได้ดีกว่าสไตล์โมเดิร์น เช่น ม/น, อ/ฮ, ก/ท
ภาษาอังกฤษ: ฟอนต์มีเชิง (Serif) มักอ่านง่ายกว่าฟอนต์ไม่มีเชิง (Sans-serif) ในงานสิ่งพิมพ์
4. ระวังฟอนต์แฟนซีเกินไป
แม้แบบอักษรที่มีเถาวัลย์ ดอกไม้งอก บล็อคของเล่น กรอบวิจิตร จะดูสวยและน่าตื่นเต้น แต่อาจจะทำให้ข้อความอ่านยากขึ้น ถ้าต้องใช้ ควรเลือกที่ยังคงความชัดเจนของตัวอักษร
เทคนิคเพิ่ม Readability ให้อ่านง่ายไม่มีสะดุด
1. ปรับขนาดตัวอักษรให้เหมาะสม
ขนาดเล็กเกินไปทำให้อ่านยาก ควรใช้ขนาดที่สบายตา โดยเฉพาะในงานดิจิทัล
2. ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่และเล็กให้เหมาะสม
ข้อความที่เป็น ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด (ALL CAPS) อาจทำให้การอ่านช้าลง เพราะตัวอักษรทุกตัวมีความสูงเท่ากัน ไม่ควรใช้กับเนื้อหายาวๆ
3. เว้นระยะระหว่างบรรทัด (Line Spacing)
บรรทัดที่ชิดกันเกินไปทำให้อ่านติดขัด ส่วนบรรทัดที่ห่างกันเกินไป ทำให้สายตาต้องกระโดดไกลเกินไปเวลาอ่าน
4. จำกัดความยาวบรรทัด
บรรทัดที่ยาวเกินไปทำให้สายตาล้า ควรใช้ความยาวที่เหมาะสมกับการอ่าน
5. ใช้สีและคอนทราสต์ที่เหมาะสม
สีตัวอักษรควรตัดกับพื้นหลัง เช่น ข้อความสีเข้มบนพื้นหลังอ่อน หรือพื้นหลังเข้มกับตัวอักษรสีอ่อน หลีกเลี่ยงสีที่ใกล้เคียงกัน เช่น ฟ้าอ่อนบนขาว
6. หลีกเลี่ยงการพิมพ์ตัวอักษรแนวตั้ง
แม้ในบางภาษาจะใช้ได้ดี เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาจีน แต่สำหรับภาษาไทยและอังกฤษ ตัวอักษรแนวตั้งมักอ่านยากกว่าปกติ
การทำให้ Typography อ่านง่าย ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของดีไซน์ แต่ส่งผลโดยตรงต่อ User Experience
Typography ที่ดีไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ต้องช่วยให้ข้อมูลถูกสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือสื่อสิ่งพิมพ์ หากตัวอักษรอ่านยาก ขนาดไม่เหมาะสม หรือจัดวางไม่ดี อาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่สบายตา หงุดหงิด และเลิกอ่านไปได้เลย ในขณะที่ Typography ที่ออกแบบมาอย่างดี จะช่วยให้เนื้อหาถูกถ่ายทอดได้อย่างราบรื่น เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน
ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกฟอนต์ที่เหมาะสม ปรับระยะห่างตัวอักษร หรือออกแบบคอนทราสต์ของตัวหนังสือให้ชัดเจน แล้วจะเห็นความแตกต่างของงานออกแบบและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างชัดเจนแน่นอนค่ะ