การคิดหัวข้อธีสิส ก็เหมือนการเดินเข้าไปในห้องมืดที่มีแค่ไฟฉายอันเดียวอยู่ในมือ เพราะมันไม่ใช่แค่การเลือกเรื่องมาทำโปรเจกต์ แต่มันคือการเลือกเส้นทางที่เราจะต้องอยู่กับมันไปอีกหลายเดือน และในช่วงแรกของการเริ่มต้น มันไม่ค่อยมี "แสงสว่าง" ชัดเจนว่า
-
ควรทำเรื่องไหนดี?
-
หัวข้อแบบไหนที่เรียกว่า "ดี"?
-
ทำไปแล้วจะพัฒนาได้แค่ไหน?
-
หรือแม้แต่… เราชอบเรื่องนี้จริงหรือเปล่า?
ที่รู้สึกเหมือน "เดินอยู่ในห้องมืด" เพราะไม่มีใครบอกได้ชัดๆ ว่าเส้นทางไหนถูก มีแค่ "ไฟฉาย" ในมือ ซึ่งก็คือความสนใจเล็กๆ หรือคำถามบางอย่างที่เราคิดถึงซ้ำไปซ้ำมา อาจยังไม่ใช่แสงไฟสว่างจ้า แต่ก็พอให้มองเห็นข้างหน้าได้ทีละก้าว บางครั้งเราต้องลองส่องดูหลายๆ มุมก่อนถึงจะเจอทาง บางจุดเจอทางตัน ต้องย้อนกลับมาเริ่มใหม่ บางมุมเจออะไรแปลกๆ ที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน แต่นั่นแหละ… คือเสน่ห์ของการทำธีสิส คือการได้เดินเข้าไปสำรวจ "ห้องของตัวเอง" แบบที่ไม่มีใครเคยเข้าไปมาก่อน
Step 1: ยิ่งส่วนตัวยิ่งดี
อย่าเพิ่งคิดว่าคนอื่นจะสนใจมั้ย ให้ถามตัวเองก่อนว่า “อินมั้ย?” หัวข้อธีสิสที่ดีเริ่มจากความเป็นเรา เพราะถ้าเราไม่อินกับสิ่งที่ทำ จะให้ฝืนทำต่อไป 1 ปีเต็ม มันก็เหนื่อยใจเกินไปหน่อย ลองขุดจากเรื่องเล็กๆ รอบตัวที่สะกิดใจเราเป็นพิเศษดู เช่น งานอดิเรก ความทรงจำ คำถามที่ค้างคาใจ หรือแม้แต่ความคิดเห็นส่วนตัวที่อาจจะขัดแย้งกับคนอื่นบ้างก็ได้
ตัวอย่าง
-
ชอบคนในเครื่องแบบ ทำไมถึงรู้สึกเท่ทุกครั้งที่เห็น?
-
อินกับการเล่นคำผวน ภาษาไทยมันสนุกแค่ไหนกันนะ
-
ทะเลาะกับแม่เพราะเก้าอี้ตั่งไม้ที่บ้านไม่ถูกจริต
-
สวดมนต์ตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคย "รู้รสพระธรรม" เลย
Step 2: แตกประเด็นให้กว้าง แล้วค่อยเจาะให้ลึก
- ชอบเพราะอะไร? เสื้อผ้า? บุคลิก? อำนาจ?
- เครื่องแบบในแต่ละวัฒนธรรมต่างกันยังไง?
Step 3: รีเสิร์ชให้ลึก อย่าเดาเอาเอง
- อ่านหนังสือ บทความ งานวิจัย
- พูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง
- เก็บข้อมูลจากสถานที่จริง
- ทดลองทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ
Step 4: จับของสองอย่างมามิกซ์ = ธีสิสไม่เหมือนใคร
- เครื่องแบบของอาชีพต่างๆ + การเคลื่อนไหวของสัตว์
- ภาษาไทย + UX Design
- ความเชื่อโบราณ + การออกแบบแบรนด์
- การกลัวแมลง + การสื่อสารด้วยภาพ
Step 5: อย่าใหญ่เกินไป ขอแค่ "เฉพาะเจาะจง"

Step 6: เลือกหัวข้อให้เหมาะกับ “สไตล์การทำงาน” ของตัวเอง
- ชอบวิเคราะห์: ทำธีสิสที่มีโจทย์ให้แก้
- ชอบเล่าเรื่อง: หัวข้อที่เน้นการถ่ายทอดมุมมอง
- ชอบคิดระบบใหม่: หัวข้อที่มีโมเดลหรือแนวคิดใหม่
- ชอบแบรนดิ้ง: สำรวจการสื่อสารภาพลักษณ์
- ชอบทดลอง: ทำเวิร์กช็อป หรือ Interactive Experience

หัวข้อธีสิสที่ดี ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่หรือซับซ้อนเสมอไป แต่มันควรเป็นเรื่องที่เรา "อยากรู้" จริงๆ และ "พร้อมอยู่กับมันไปอีกนาน" เพราะตลอดการทำธีสิส เราไม่ได้แค่เขียนหรือผลิตผลงานบางอย่างขึ้นมา แต่เรากำลังใช้เวลาเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง สัมผัสมันในมุมที่คนอื่นอาจไม่เคยคิดถึง และเข้าใจตัวเองไปพร้อมกัน
หลายคนกังวลว่าหัวข้อของตัวเองจะดูเล็กไป จะสู้คนอื่นไม่ได้ หรือจะไม่น่าสนใจพอในสายตาคนอ่าน แต่จริงๆ แล้ว ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ "เรื่องอะไร" แต่อยู่ที่ "เล่าเรื่องนั้นยังไง" และ "เข้าใจมันได้ลึกแค่ไหน" หัวข้อเล็กๆ ถ้ามีมุมมองที่เฉียบคม ก็กลายเป็นงานที่ทรงพลังได้เหมือนกัน
จำไว้ว่าธีสิสไม่ใช่สนามแข่งว่าใครทำเรื่องใหญ่กว่ากัน แต่เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้เราลองสำรวจสิ่งที่อยู่ในใจ แล้วแปลงมันออกมาเป็นชิ้นงานที่มีความหมายกับตัวเราเอง และแม้ระหว่างทางจะมีช่วงที่รู้สึกหมดไฟ ไม่มั่นใจ หรืออยากเลิกทำ อยากให้รู้ว่า "ความไม่ชัดเจน" ในตอนเริ่มต้น เป็นเรื่องธรรมดามากๆ สำหรับทุกคน ไม่มีใครรู้คำตอบทั้งหมดตั้งแต่วันแรก สิ่งสำคัญคือการเริ่มจากบางอย่างเล็กๆ ที่เราสนใจ แล้วค่อยๆ ส่องทางไปข้างหน้าด้วยจังหวะของตัวเอง
ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องเปรียบเทียบ ขอแค่ซื่อสัตย์กับตัวเอง และกล้าทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ เพราะบางทีธีสิสที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่ธีสิสที่ "ดูดี" ที่สุด แต่เป็นธีสิสที่ "เป็นเรา" ที่สุดต่างหาก Casper Schools ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนเลยนะคะ