Typography (n.) The art or procedure of arranging type or processing data and printing from it แปลตรงตัวได้ว่า 'ศิลปะในการจัดเรียงข้อมูลตัวอักษรแล้วพิมพ์ออกมา' หรือจะเรียกว่าวิชาการพิมพ์ก็ได้
ซึ่งคําที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินอย่างน้อย 1 คําเมื่อพูดถึงเรื่องตัวอักษรคงจะเป็น 'Kerning, Tracking และ Leading' แต่พอจะต้องใช้คํานี้จริงๆ อาจจะยังใช้ผิดใช้ถูกอยู่บ้าง เรามาดูกันดีกว่าว่าแต่ละคํามีความหมายยังไง ใช้ยังไง แล้วมีที่มายังไง แต่ก่อนจะลงดีเทลเกี่ยวกับแต่ละคํา เรามาทําความรู้จักชายผู้เป็นคนปฏิวัติวงการการพิมพ์กันก่อนดีกว่า
Johann Gutenburg ชายผู้ได้ชื่อว่า 'บิดาแห่งการพิมพ์' กูเต็นเบิร์กเป็นช่างตีเหล็ก ช่างทอง และช่างพิมพ์ชาวเยอรมัน ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องพิมพ์และเทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ โดยใช้ตัวเรียงอักษรที่ทําจากโลหะ หมึกพิมพ์ที่ใช้น้ํามันเป็นฐาน และแท่นพิมพ์แบบกดแบบใหม่ที่เรียกว่า 'แท่นพิมพ์ระบบตัวเรียง' (movable-type printing press) จากเดิมที่เป็นการพิมพ์บล็อกไม้ ทำให้สามารถพิมพ์หนังสือได้จำนวนมากขึ้นในราคาที่ถูกลง ทำให้กูเต็นเบิร์กได้รับการยอมรับเป็นผู้นําวงการพิมพ์ในยุโรปในปี 1440
พอรู้จักบิดาแห่งการพิมพ์แล้ว เรามาเริ่มที่ศัพท์คําแรกกันเลยดีกว่า
1. Kerning
Kerning แปลเป็นไทยว่า “การล้ำ” คือการจัดช่องว่างระหว่างตัวอักษรที่อยู่ติดกัน 2 ตัว ไม่ให้ห่างไป หรือชิดเกินไป ด้วยการจัดให้ตัวอักษรหนึ่ง “ล้ำ” เข้าไปในช่องว่างของอีกตัวหนึ่ง ทําให้ดูอ่านง่าย สวยงาม สบายตา คํานี้มีที่มามาจากการปรับแต่งบล็อกตัวอักษรโลหะแบบกําหนดระยะให้เข้ากันอย่างสวยงาม โดยการตัดขอบเหล็กออกเพื่อให้ตัวอักษรห่างกันอย่างพอดีสวยงาม ทำให้นํามาวางด้วยกันแล้วอ่านได้อย่าง smooth การ Kerning จึงเป็นการให้ความสําคัญกับ Shape ที่แตกต่างกันของตัวพิมพ์แต่ละตัว
2. Tracking
Tracking หรือ Letter Spacing แปลเป็นไทยว่า "การจัดช่องไฟ" คือการจัดพื้นที่โดยรวมระหว่างตัวอักษรใน 1 คํา หรือ 1 ประโยค (ไม่เหมือน Kerning ที่เป็นการจัดระหว่าง 2 ตัวอักษร) เมื่อจัดชิดกันกว่าปกติ หรือห่างกันกว่าปกติ จะทําให้เกิดความรู้สึกต่างกัน โดยคําว่า Tracking เพิ่งเริ่มมีการใช้งานในยุค Typewriter หรือการพิมพ์ดีด
3. Leading
Leading คือ "ระยะบรรทัด" มันคือช่องว่างในแนวตั้งระหว่างแต่ละบรรทัด ซึ่งมีที่มาจาก Lead strips หรือ แถบโลหะตะกั่วที่ใช้ในการพิมพ์ยุคแรกๆ เพื่อเพิ่มความสูงระหว่างแต่ละบรรทัด
เมื่อเราเข้าใจความหมายของแต่ละคําแล้ว ก็จะทําให้เราเลือกใช้คําเพื่อพูดถึงตัวอักษรในงานดีไซน์ได้อย่างถูกต้อง และสื่อสารกันอย่างเข้าใจไม่คลาดเคลื่อนค่ะ